วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทวิภาษาไทย - ม้ง บันไดเรียนรู้เด็กดอย

16239

“นุ๊ นอ เป๊ เก่า กี่ ก่า ดี่ อู๊ นอ  (วันนี้เรียนการเปรียบเทียบความจุ)”เสียงครูท้องถิ่น หรือครูม้ง ที่กำลังนำนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย เข้าสู่บทเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้ภาษาม้ง เสียงเซ็งแซ่ของเด็ก ๆ ที่ยกมือแย่งกันตอบคำถาม ขณะที่มีครูประจำการ หรือครูไทย คอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ และเมื่อครูม้งสอนเสร็จ ครูไทยก็จะเข้ามาสอบถามนักเรียนโดยพูดภาษาไทย เพื่อตรวจสอบว่าเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนหรือไม่ จากนั้นครูม้งจะกลับมาสรุปบทเรียนก่อนจบคาบเรียนอีกครั้ง ภาพเหล่านี้ คือ ส่วนหนึ่งในการ  “จัดการศึกษาแบบทวิภาษา / ไทย-ม้ง” ที่ใช้ “ภาษาม้ง อักษรไทย” เป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่การอ่านออกและเขียนภาษาไทยได้ของเด็กม้งที่ไม่ได้ ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรกในชีวิตประจำวัน หรือภาษาแม่

ต่อเนื่องมากว่า 3 ปี ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงรายเขต 4 ได้ร่วมกับ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ นำโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้ภาษาท้องถิ่นมาร่วมจัดการเรียน รู้สำหรับเด็กชาวเขาเผ่าม้งในจังหวัดเชียราย โดยนำร่องในโรงเรียน 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน โรงเรียนบ้านแผ่นดินทอง โรงเรียนบ้านห้วยหาน และโรงเรียนบ้านห้วยคุ ซึ่งเริ่มสอนโดยใช้แนวทางทวิภาษา/ไทย-ม้ง ให้เด็กในชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อปีการศึกษา 2552

0

ปัจจุบันเด็กทวิภาษาของโรงเรียนบ้านรักแผ่นดินรุ่นแรก กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่ง กาญจนา ปราศัย หรือ ครูไทยของเด็ก ๆ บอกว่า การเรียนการสอนจะยึดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งวิธีการสอนแบบทวิภาษา ในทุกรายวิชา ยกเว้นวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะให้ครูท้องถิ่นสอนตามแผนการสอนที่ครูไทยเขียนและให้คำแนะนำไว้ โดยใช้ภาษาม้งสื่อสาร เนื่องจากเวลาอธิบายเชิงลึกเด็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่าการใช้ภาษาไทย ซึ่งการสอนแบบทวิภาษาทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น โดยเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนในวิชาภาษาไทย เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2554 ที่ได้ปูพื้นฐานการอ่านภาษาม้งที่ใช้อักษร พยัญชนะ และสระไทย มาตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 2 จะสามารถผสมคำ ผสมสระ ตลอดจนผันคำ และเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่าเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2553 ที่ไม่ได้เรียนระบบทวิภาษา และเมื่อเด็กเข้าใจ ก็ทำให้มั่นใจกล้าแสดง และแย่งกันตอบคำถามของครู จนครูต้องทำสลากไว้ เพราะมีแต่คนยกมือจนไม่รู้ใครยกมือก่อน-หลัง

ขณะที่ อรุณี แซ่ท่อ ครูท้องถิ่น หรือ ครูม้ง ประจำชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถ่ายทอดวิธีการสอนว่า จะสอนภาษาไทยวันละนิด โดยเรียนภาษาไทยวันละ 30 นาที แบ่งเป็น เช้า 15 นาที และบ่าย 15 นาที ซึ่งจะไม่เน้นสอนพูดแต่จะเน้นสอนการฟังและให้เด็กปฏิบัติตาม ส่วนในช่วงเวลาอื่นก็จะเรียนในวิชาอื่นเป็นภาษาม้ง โดยเน้นความหมาย การจินตนาการ มีการใช้ฉากภาพใหญ่ ใช้หนังสือรูปภาพ และให้เด็กเล่าเรื่องจากภาพ หรือให้เด็กเขียนภาพสร้างสรรค์ นอกจากนี้จะสอนการเตรียมอ่านเขียน ให้เด็กได้เริ่มท่องตัวอักษร สังเกตคำที่เหมือนคำที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกวิชาวิถีชีวิตเข้าไปด้วย โดยนำเรื่องในชุมชนมาสอนเด็กเพื่อไม่ให้เด็กได้ลืมรากเหง้า ประเพณี และวัฒนธรรมของตนเอง

1

“โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนหน้านี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่นี่  ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 98% มีคะแนนตกต่ำทุกวิชา และเมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ พบว่า เกิดจากเด็กไม่เข้าใจภาษาไทย อ่านและเขียนไม่คล่อง เด็กจึงทำข้อสอบในแต่ละวิชาไม่ได้ แต่เมื่อนำระบบทวิภาษาไทย-ม้ง มาสอน พบว่า เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งการเรียนรู้ ระเบียบวินัย กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าพูดกับครู” สากล อินต๊ะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน ยืนยันถึงความสำเร็จ

แต่กว่าจะถึงวันนี้การสอนแบบทวิภาษาก็เคยถูกผู้ปกครองของเด็ก ๆ ต่อต้านเหมือนกัน โดย สุรชัย เกียรติไพรยศ พ่อหลวงบ้านรักแผ่นดิน และกรรมการสถานศึกษา เล่าว่า ตอนเริ่มต้นโดนตำหนิมาก เพราะผู้ปกครองจะคิดตลอดว่า มาโรงเรียนต้องไปเรียนภาษาไทย ไม่ใช่เรียนภาษาถิ่น  ซึ่งต้องอธิบายเยอะ และในฐานะที่เป็นเจ้าของภาษาท้องถิ่นก็กลัวเหมือนกันว่า ภาษาม้งและวัฒนธรรมจะเพี้ยน แต่ก็ค่อนข้างมั่นใจเพราะได้ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตร และคำที่ใช้สอนในโรงเรียนก็มาจากผู้รู้และผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

สำหรับใครที่กังวลว่าเรียนแบบนี้แล้วภาษาเขียนของม้งจะสูญหายไปนั้น ผศ.วรรณา เทียนมี ประธานมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ชี้แจงว่า ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเด็กในโครงการฯ เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็จะนำอักษรโรมันมาใช้สอนแทนอักษรไทย ซึ่งจะทำให้เด็กมีความรู้ถึง 4 ภาษา คือ ภาษาม้งที่เป็นอักษรไทย ภาษาม้งที่เป็นของชาวม้งซึ่งใช้อักษรโรมันเขียน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

“การสอนแบบทวิภาษา เป็นการสอนเด็กตามธรรมชาติ ในการเรียนรู้ภาษาของคนเรา คือ เรียนรู้สิ่งที่ใหม่จากฐานที่รู้หรือคุ้นเคย ฟังได้ก่อนแล้วค่อยพูด จากนั้นจึงอ่านและเขียน และในทางกลับกันถ้าให้เด็กเรียนรู้ของใหม่จากภาษาที่ไม่คุ้นเคยมากเกินไป จะทำให้เกิดการท้อถอย และความไม่รู้ก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นผลการเรียนจะตก เพราะความไม่รู้จริงในคำศัพท์ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทั่วโลกออกมายืนยันด้วยว่า ถ้าเด็กคนใดรู้ทวิภาษา ผลการเรียนรู้ของเด็กคนนั้น จะเก่งกว่าเด็กที่เรียนรู้ภาษาแม่เพียงภาษาเดียว” ผศ.วรรณา กล่าว

การสำรวจข้อมูลของ สพฐ. จาก 45 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งอยู่ตามแนวชายแดนในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก พบว่า มีโรงเรียนจำนวน 722 แห่ง ที่นักเรียนใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาในชีวิตประจำวัน หรือภาษาแม่ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันกว่า 30 ชื่อภาษา จำแนกเป็นโรงเรียนที่นักเรียนใช้ภาษาท้องถิ่นเดียวกัน 477 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 240 แห่ง ภาคกลาง-ตะวันตก 33 แห่ง ภาคอีสาน-ตะวันออก 169 แห่ง และโรงเรียนที่นักเรียนใช้ภาษาท้องถิ่นมากกว่า 1 ภาษา 275 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 132 แห่ง ภาคกลาง-ตะวันตก 28 แห่ง ภาคอีสาน-ตะวันออก 115 แห่ง ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังไม่นับรวมโรงเรียนในชายแดนภาคใต้ที่นักเรียนใช้ภาษามลายู ถิ่นเป็นภาษาแม่เมื่อเห็นข้อมูลเช่นนี้ หลายคนอาจคิดว่าถ้าทวิภาษาดีจริงแล้วทำไมโรงเรียนในกลุ่มนี้จึงไม่ใช้ระบบ ทวิภาษาแบบเต็มรูป

ในการเรียนการสอน ซึ่ง บุษบา ประภาสพงศ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ  สพฐ. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มีโรงเรียนที่ต้องการจะเข้าโครงการฯ อีกมาก แต่เรายังขาดงบประมาณที่จะใช้ในการจ้างครูท้องถิ่น ซึ่งครูท้องถิ่นที่ต้องนำมาสอนประกบกับครูไทยเหล่านี้จะได้รับค่าจ้างเพียง 4,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนครูท้องถิ่นบ่อย และต้องทำการอบรมกันใหม่ เพราะครูท้องถิ่นส่วนใหญ่จะจบแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ครูท้องถิ่นที่สอนอยู่นาน ๆ จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักเด็ก  รักท้องถิ่น  และเสียสละอย่างมาก อย่างไรก็ตามหากในอนาคต สพฐ.สามารถสอบบรรจุครูที่พูดได้สองภาษาก็จะไม่มีปัญหานี้

มาถึงจุดนี้แล้วอาจกล่าวได้ว่า “ทวิภาษา“ เปรียบเสมือนเป็นสะพาน หรือบันได ให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ก้าวข้ามพ้นอุปสรรคความไม่รู้ในภาษาที่สองของชีวิต และจากเด็กด้อยโอกาส ก็กลายเป็นเด็กที่ได้โอกาสพิเศษ ซึ่งมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง.

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์

ขอบคุณ dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น